เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [5. ปํญจมปัณณาสก์] 1. กรชกายวรรค 7. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
7. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
ว่าด้วยกรรมที่สัตว์เจตนาสั่งสม สูตรที่ 1
[217] ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่ง
กรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นเองที่สัตว์พึงเสวยในปัจจุบันก็มี ใน
อัตภาพถัดไปก็มี หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไปก็มี ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม
จะไม่กล่าวถึงการทำที่สุดแห่งทุกข์ของกรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ในข้อ
นั้นแล วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
3 ประการ วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นวิบาก 4 ประการ วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็น
กำไร มีทุกข์เป็นวิบาก 3 ประการ
วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นวิบาก 3 ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
2. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของ
ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
3. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติ
ธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวง
มาลัยหมายไว้
วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก 3 ประการ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :357 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [5. ปํญจมปัณณาสก์] 1. กรชกายวรรค 7. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่
ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือรู้
ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’
กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะ
เหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
2. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้
หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ยุยงคนที่
สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่แตก
แยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
3. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่
เป็นไปเพื่อสมาธิ
4. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์
พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่
กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
4 ประการ เป็นอย่างนี้แล
วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นวิบาก 3 ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม
ใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :358 }